วันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เครียดที่ใจ ทำไมเป็นแผลที่กระเพาะ


สังคมเมืองในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ต่างมีวิถีชีวิตที่แข่งขันกับเวลา และทานอาหารไม่ตรงต่อเวลา ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะ “โรคเครียดลงกระเพาะ” ซึ่งเป็นโรคฮิตที่ทำให้เกิดอุปสรรคในการทำงาน ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา
แนวทางการดูแลสุขภาพ เพื่อไม่ให้เป็นโรคฮิตนี้ คือ เราจะต้องป้องกันไว้ดีกว่าแก้ และทำความรู้จักเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้ ตั้งแต่สาเหตุของโรค อาการ และแนวทางการป้องกันความเครียด โดยแพทย์หญิงเพ็ญแข แดงสุวรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคกระเพาะอาหาร กล่าวว่า ความเครียด เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อาการโรคกระเพาะอาหารกำเริบ เพราะในขณะที่เราเครียด ระบบประสาทอัตโนมัติ จะไปกระตุ้นต่อมหมวกไต ให้หลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลีนออกมาในปริมาณมากกว่าปกติ ส่งผลให้ร่างกายมีการตื่นตัวตลอดเวลา และเมื่อคนเกิดความเครียด ฮอร์โมนเหล่านี้ จะไปกระตุ้นให้กระเพาะอาหารทำงานและหลั่งน้ำย่อยออกมามากกว่าปกติ จนเกิดอาการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการปวดท้อง แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียนได้ สร้างความทรมานให้กับผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลา เพราะโรคนี้หากรักษาไม่หายขาด จะมีอาการเป็นๆหายๆ ดังนั้นหากเรารู้สึกว่า เริ่มมีอาการเครียดในเรื่องต่างๆมากมาย จนทำให้เกิดอาการ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ มีอาการมึนงง หงุดหงิด รำคาญใจอยู่บ่อย ๆ และอยากอยู่คนเดียว ให้รู้ไว้เลยว่า คุณกำลังเกิดอาการเครียดซึ่งเป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่ามีโอกาสป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหาร นอกจากนี้อาการที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าเป็นโรคกระเพาะอาหาร ได้แก่
1.รู้สึกปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ มักปวดเวลาท้องว่าง และอาการปวดเหล่านี้จะลดหรือหายไปเมื่อเรารับประทานอาหาร
2.มีอาการปวดท้องหลังจากรับประทานอาหารไปแล้ว 2-3 ชั่วโมง เนื่องจาก ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นเวลาที่กระเพาะอาหารของเราเริ่มย่อยอาหาร
3. รู้สึกแน่นท้อง ท้องเฟ้อ อาจเกิดจากการรีบกินอาหาร การกลืนอาหารเร็วเกินไป ซึ่งส่งผลให้กระบวนการย่อยอาหารในกระเพาะเกิดความแปรปรวน
4. หากมีอาการปวดท้องรุนแรง เช่น หายใจแรงก็ปวด ถ่ายท้อง อาเจียนหรืออุจจาระออกมาเป็นเลือด และมีสีดำตลอดเวลา ให้รู้ไว้เลยว่า อาการอยู่ในขั้นอันตราย ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาด่วน หากช้าเกินไป อาจเกิดอาการกระเพาะอาหารทะลุหรือเลือดออกทางเดินอาหารได้
อาการทั้ง 4 ข้อนี้เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นอันตรายของโรคกระเพาะอาหาร ที่มีสาเหตุมาจากความเครียด ดังนั้นเราควรป้องกัน เพื่อมิให้เกิดอาการดังกล่าวโดย รับประทานอาหารให้ตรงเวลา และให้ครบ 3 มื้อ สำหรับผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอยู่แล้ว ในระยะแรกให้ฝึกการกินอาหารที่ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก ฯลฯ ทั้งนี้ควรงดอาหารที่มีรสจัด เช่น เปรี้ยวจัด เค็มจัด นอกจากนี้ ควรเลิกสูบบุหรี่ และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด รวมทั้ง ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง และน้ำอัดลม เพราะสิ่งเหล่านี้ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ และอาจทำให้โรคกระเพาะอาหารที่เป็นอยู่กำเริบหนักขึ้น สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ การหากิจกรรมคลายเครียด สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การออกกำลังกาย เช่น วิ่ง เดินเร็ว ขี่จักรยาน เต้นแอโรบิก หรือทำสมาธิ อ่านหนังสือ เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ หากปฏิบัติเป็นประจำจะช่วยลดความเครียด และในระยะยาวยังสามารถรักษาโรคกระเพาะอาหารให้หายขาดได้
จะเห็นได้ว่า ปัญหาที่เกิดในตัวมนุษย์ที่สะสมขึ้นทุกๆวัน ได้แก่ ปัญหาจากความเครียด เช่น ความเครียดจากการทำงาน การเรียน ครอบครัว ฯลฯ นอกจากความเครียดแล้วยังส่งผลทำให้เกิดโรคต่างๆตามมา โดยเฉพาะโรคกระเพาะอาหาร หรือที่เรียกว่า โรคเครียดลงกระเพาะ ดังนั้นเราในฐานะผู้ที่กำลังจะเผชิญกับความเครียดในไม่ช้า จึงควรรับรู้ และเตรียมความพร้อมที่จะเผชิญกับโรคนี้ก่อนที่มันกำลังจะเกิดขึ้น ในปัจจุบันเราสามารถศึกษาข้อมูล เอกสาร ตำรา โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วารสาร บทความ และช่องทางการสื่อสารได้หลากหลายช่องทาง เพราะสังคมสมัยนี้เป็นสังคมแห่งการออนไลน์ ทำให้เราสามารถรับรู้ช่องทางการสื่อสารได้หลากหลากแนวทางมากยิ่งขึ้น โดยผ่านสื่อเป็นตัวประกอบ สิ่งที่ควรศึกษาเกี่ยวกับความเครียด ได้แก่ สาเหตุ อาการ ผลกระทบและโรคที่จะได้รับตามมา การได้รับรู้ก่อนที่จะเกิดโรค ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี และมีประโยชน์ต่อตัวผู้อ่าน ผู้เรียน ผู้ที่ทำงาน อีกทั้งบุคคลทั่วไปที่อยู่ในสังคม ไม่จำกัดเพศ วัย อายุ ด้วยวิธีการเขียนที่ทำให้ผู้อ่าน อ่านแล้วเข้าใจง่าย จะทำให้เราสามารถศึกษาเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน มีแนวทางในการนำไปปรับใช้หากเราเกิดโรคนี้ เหมือนกับคำพูดที่ว่า “ป้องกันไว้ดีกว่าแก้”